ในทุกๆวันนี้เราก็อาจจะเคยยืมทรัพย์สินหรืออาจจะเคยยืมเงินคนไกล้ตัวมาบ้างแล้วแต่รู้หรือไม่ว่าประเภทของสัญญายืมนั้นมีกี่ประเภท วันนี้เราจะมาให้ความรู้กันว่า สัญญายืมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- สัญญายืมใช้คงรูป
- สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
1. สัญญายืมใช้คงรูป
มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคน เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
●โดยลักษณะที่สําคัญของสัญญายืมใช้คงรูป คือ
1.เป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทน
- เมื่อไม่มีค่าตอบแทนสัญญายืมใช้คงรูป ถือเอา คุณสมบัติของผู้ยืม เป็นสาระสําคัญของสัญญา
- หากผู้ยืมเสียชีวิต สัญญายืมใช้คงรูปสิ้นสุดลงทันที ตาม มาตรา648 อันการยืมใช้คงรูป ย่อมระงับสิ้นไปด้วยมรณะแห่งผู้ยืม
- สิทธิการยืมไม่ตกทอดไปยังทายาท
- เมื่อเป็นสัญญาไม่มีค่าตอบแทนผู้ให้ยืมต้องไม่รับผิดในความชํารุดบกพร่อง หรือการรอนสิทธิที่ทําให้ผู้ยืมไม่อาจใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมได้
2.เป็นสัญญาที่ไม่โอนกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่ให้ยืม
- ผู้ให้ยืมไม่จําเป็นต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืมก็ได้เพราะสัญญามิได้มีวัตถุประสงค์ในการโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ ในทรัพย์สินที่ให้ยืม
3.ทรัพย์สิน เป็นวัตถุแห่งสัญญายืมใช้คงรูป
- มาตรา 640 อันว่ายืมใช้คงรูปนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ให้ยืม ให้บุคคลอีกคน เรียกว่าผู้ยืม ใช้สอยทรัพย์สินสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เปล่า และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินนั้น เมื่อได้ใช้สอยเสร็จแล้ว
- มาตรา 137 ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง
- มาตรา 138 ทรัพย์สิน หมายความรวมทั้งทรัพย์และวัตถุไม่มีรูปร่าง ซึ่งอาจมีราคาและอาจถือเอาได้
●ลักษณะของการส่งมอบทรัพย์สิน
1. การส่งมอบกรณีทั่วไป
- การส่งมอบโดยตรง คือการหยิบยื่นทรัพย์สินที่ยืมให้แก่ผู้ยืมโดยตรง
- การส่งมอบโดยปริยาย คือกิจการส่งมอบที่ปราศจากการหยิบยื่นตัวทรัพย์ที่ให้ยืม
2.การส่งมอบกรณีพิเศษ
- กรณีที่ทรัพย์อยู่ ในการครอบครอบของผู้ยืมอยู่
ก่อนแล้ว
- กรณีการแปลงหนี้ใหม่
- กรณีมีการยอมรับเอาทรัพย์สินหรือสิ่งของอย่างอืนแทนจํานวนเงินที่ยืม
* *ทั้ง 3 กรณี ถือว่ามีการส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ยืมกันแล้ว
●สิทธิของผู้ยืมใช้คงรูป
1. สิทธิที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่ยืมตามสัญญา
2.สิทธิที่จะปลดเปลื้องการรบกวน
3.สิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหาย จากการขาดประโยชน์ที่จะใช้สอยทรัพย์สินที่ยืม
●ผลของการที่ผู้ยืมไม่สามารถส่งคืนทรัพย์สินที่ยืม
-ทรัพย์สินสูญหายเพราะ เหตุสุดวิสัย
- ทรัพย์สินสูญหายเพราะความผิดของบุคคลภายนอก
- ทรัพย์สินสูญหายเพราะความผิดของผู้ยืมฝ่าฝืน ม.643,ม.644 ผู้ยืมให้ยืม ย่อมมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้ยืมได้ ได้แก่ ราคาทรัพย์สินที่ผู้ยืมยืมไป และรวมถึงค่าเสียหายอื่นๆ
2.สัญญายืมใช้สิ้นเปลือง
มาตรา 650 อันว่ายืมใช้สิ้นเปลืองนั้น คือสัญญาซึ่งผู้ให้ยืมโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินชนิดใช้ไปสิ้นไปนั้นเป็นปริมาณมีกําหนดให้ไปแก่ผู้ยืม และผู้ยืมตกลงว่าจะคืนทรัพย์สินเป็นประเภท ชนิด และปริมาณ เช่นเดียวกันให้แทนทรัพย์สินนั้น
สัญญานี้ย่อมบริบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ยืม
โดยลักษณะที่สำคัญของสัญญายืมใช้สิ้นเปลือง คือ
1. เป็นสัญญาไม่ต่างตอบแทน
2. เป็นสัญญาที่โอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ยืม
- ผู้ให้ยืมต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่ให้ยืมเพราะสัญญา มีวัตถุประสงค์ในการโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ ในทรัพย์สินที่ให้ยืม
3. เป็นทรัพย์ชนิดใช้ไปสิ้นไป
**ยกตัวอย่างเช่น การกู้ยืมเงิน ก็เป็นการยืมใช้สิ้นเปลืองประเภทหนึ่ง และการกู้ยืมเงินนั้น ถ้าหากกู้ยืมเงินเกินกว่าสองพันบาทขึ้นไปจะต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ยืมเป็นสําคัญ ถ้าหากไม่มีก็จะไม่สามารถฟ้องร้องบังคับคดีได้
●การส่งมอบเงินที่ยืม
- สัญญากู้ยืมเงินจะบริบูรณ์ เมื่อมีการส่งมอบเงินที่ยืม ตามมาตรา650 วรรค 2
-นอกจากนี้ยังมีการส่งมอบโดย เอาหนี้ที่มีอยู่มาแปลงเป็นเงินกู้ ถือได้ว่ามีการส่งมอบเงินกู้โดยปริยายแล้ว
เห็นไหมละคะว่าเรื่องการยืมทรัพย์สินต่างๆไม่ว่าจะเป็นสัญญายืมใช้คงรูปและสัญญายืมใช้สิ้นเปลืองเป็นเรื่องไกล้ตัวเรามากเราควรจะศึกษาหาความรู้ข้อกฎหมายในชีวิตประจําวันเพื่อเอาไว้เป็นความรู้เล็กๆน้อยๆติดตัวเรา เผื่อเรามีปัญหาขึ้นมาเราจะได้รู้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไร
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย ถ้าหากผิดพลาดประการใดก็ขอ อภัย ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น